บุโรพุทโธ
พุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก
เจดียบุโรพุทโธ หรือ จันทิโบโรบูโด
จันทิโบโรบูโด (Candi Borobudur) เป็นคำเรียก บุโรพุทโธ ของคนอินโดนีเซีย "จันทิ" นี้มีความหมายว่า วัด เจดีย์ หรือวิหาร ที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้นเมื่อเราไปเที่ยวอินโดนีเซีย เราจึงควรเรียกวัดว่า "จันทิ" Candi ทับศัพท์แทน Temple จะเป็นที่เข้าใจของชาวบ้านทั่วไปได้ดี ในขณะที่คำว่า "เจดีย์" ของคนอินโดนีเซีย จะหมายถึง สถานที่ทางศาสนาขนาดเล็ก ที่ใช้สำหรับครอบครัว ตระกูล หรือภายในหมู่บ้านเล็กๆ
จันทิโบโรบูโด เป็นพุทธสถานโบราณที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ.1323-1393 (ก่อนนครวัดราว 300 ปี) โดยการอุปถัมภ์ของกษัตริย์ราชวงศ์ไศเรนทร (คำว่า “ไศเรนทรา” แปลว่า เจ้าแห่งขุนเขา)
พุทธสถานแห่งนี้ไม่ได้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ แต่สร้างขึ้นเพื่อแสดงถึงศรัทธาในพุทธศาสนาแบบมหายาน และเป็นที่บรรจุพระบรมศพของกษัตริย์ไว้ที่ฐานชั้นต้นๆ โบโรบูโดจึงเป็นการโยงปูขนียสถานในพระพุทธศาสนาเข้ากับการบูชาบรรพบุรุษตามธรรมเนียมของคนตะวันออก
คำว่า บุโรพุทโธ หรือ โบโรบูโด “Borobudur” มีผู้ตีความไว้หลายนัย
ศ. Purvotjaroko ตีความว่า “โบโรบุดุร์” เป็นคำผสมระหว่าง “บะระ” กับ “บุดุร์” ซึ่ง บะระ (Bara) เพี้ยนมาจากคำฺ bihar หรือ "วิหาร" ในภาษาสันสกฤต (เช่นในอินเดียมีรัฐพิหาร หมายถึงรัฐที่มีวิหารมาก) และในที่สุดกลายเป็น “เบียระ” ส่วน “บุดุร์” เป็นชือของหมู่บ้านที่อยู่ติดกันไปทางใต้ โดยนัยนี้ “โบโรบุดุร์” จึงหมายความว่า “วิหารที่ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบุดร์”
ดร.กรอม (Krom) กล่าวว่า “โบโรดุร” มาจากคำว่า “บะระ+พุทธ”
ดร.สตัทเตอไฮม์ (Statterheim) สันนิษฐานว่า “บุดุร” มาจาก “บุดิว” (Buddue) ในภาษา มีนังกะบัว (Minangeban) ซึ่งแปลว่า เด่น ยื่นออกมา ฉะนั้น “โบโรบุดุร์” โดยนัยนี้ จึงแปลว่า “วิหารที่เด่นอยู่บนยอดเขา”
อีกด้านหนึ่งว่ามาจากสำเนียงท้องถิ่นชวาเดิมว่า Biara Beduhur ที่ผสมกันขึ้นจากสองคำ คือ "Biara" ในภาษาถิ่นเดิม หมายถึงวัดหรือวิหาร ซึ่งก็มีรากมาจาก "พิหาร" ในภาษาสันสกฤตเช่นกัน ต่อมา "ฺBiara" ก็แปลงเป็น “Boro" ส่วน “Beduhur" ในภาษาบาหลี ที่หมายถึงภูเขา ก็กลายเป็น "ฺBudo" โดยนัยนี้ “บุโรพุทโธ” จึงหมายถึง วัดที่สร้างบนภูเขา
โดยรวมๆ แล้วโบโรบูโด จึงเกี่ยวข้องกับความหมายของ "วัด" และ "ภูเขา" สอดคล้องกับนามของผู้สร้าง ราชวงศ์ไศเรนทร ที่แปลว่า เจ้าแห่งภูเขา แต่อันที่จริง โบโรบูโด สร้างขึ้นในบริเวณที่เป็นพื้นที่ลุ่ม ในอดีต เมื่อฤดูน้ำหลากจะถูกล้อมรอบด้วยน้ำที่ท่วมขังมาจากแม่น้ำโปรโก ดังนั้น เมื่อมองจากที่ไกล หรือมองลงมาจากที่สุูง จึงเห็นโบโรบูโดเปรียบเสมือนดอกบัวขนาดใหญ่ที่ลอยอยู่ในทะเลสาบ
โครงสร้างและสถาปัตยกรรม
หากมองจากที่สูงทางอากาศ บุโรพุทโธมีลักษณะเป็น “mandara” (มณฑล) ตามคติพุทธมาหายาน และตันตระยาน บุโรพุทโธ ในทางมหายานจึงเป็นสัญลักษณ์ของ “จักรวาล” และอำนาจของ “พระอาทิพุทธเจ้า” โดยพระเจดีย์องค์ใหญ่บนยอดสูงสุดนั้นแทนองค์ “พระอาทิพุทธเจ้า” ที่ทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง
ถ้ามองจากพื้นดินในระยะไกล บุโรพุทโธ คือ สถูปขนาดใหญ่ มีฐานสี่เหลี่ยมรองรับองค์สถูปและยอดสถูป หากเมื่อมองใกล้เข้ามาจะเห็นได้ชัดขึ้นว่าบุโรพุทโธมีโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม 2 แบบ คือ ส่วนบนเป็นองค์สถูป ตั้งอยู่บนลานวงกลม 3 ชั้นลดหลั่นขึ้นไป ได้รับอิทธิพลแบบคุปตะอินเดีย ส่วนด้านล่างเป็นรูปแบบปิรามิดขั้นบันได มีลานสี่เหลี่ยม เป็นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมแบบชวาโบราณที่เรียกว่า “punden berundak ”
ผู้เชี่ยวชาญได้วิเคราะห์โครงสร้างของบุโรพุทโธ พบว่ามีลำดับการสร้างอยู่ถึง 5 ขั้นในช่วงเวลาเกือบ 80 ปีของการก่อสร้าง
- ขั้นแรกสุด เป็นการสร้างฐาน 3 ชั้นบนเนินดินเก่าที่เป็นขั้นๆ อยู่เดิม สันนิษฐานกันว่าในสมัยโบราณอาจเป็นที่สำหรับทำพิธีบูชาวิญญาณของบรรพบุรุษ การใช้ที่เดียวกันนี้สร้างบุโรพุทโธขึ้นในกาลต่อมานั้น อาจเพราะเล็งเห็นว่าเป็นบริเวณที่ศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้วก็ได้
- ขั้นที่สองมีการเปลี่ยนแปลงบันไดทางขึ้นและขยายฐานให้กว้างขึ้น รวมทั้งสร้างชั้นสูงขึ้น คือชั้นที่มีฐานสี่เหลี่ยม 2 ชั้นและฐานวงกลมข้างบนอีกหนึ่งชั้น
- ขั้นที่สามมีการดัดแปลงเพิ่มเติม โดยรื้อฐานวงกลมชั้นบนนั้นออก และสร้างฐานวงกลม 3 ชั้นสูงลดหลั่นขึ้นไปแทน นอกจากนี้มีการสร้างเจดีย์บนยอดสุดขึ้นในช่วงนี้ด้วย
- ส่วนขั้นที่สี่และห้ามีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยซึ่งรวมถึงให้มีการแกะสลักลายนูน และสร้างขั้นบันใดและทางเข้ารูปโค้ง เป็นที่สังเกตกันว่า แม้มีการดัดแปลงต่อเติมโครงสร้างของบุโรพุทโธดังกล่าว แต่สัญลักษณ์สำคัญยังคงอยู่ที่องค์เจดีย์ชั้นบนสุด ในขณะที่ส่วนอื่นๆ ที่อยู่ตามชั้นต่างๆ ลงมานั้นเป็นส่วนประกอบเพื่อสื่อความหมายของบุโรพุทโธนั่นเอง
สร้างจากหินภูเขาไฟ 2 ล้านก้อน
บุโรพุทโธสร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านก้อน สกัดจากหินขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำโปรโก ลากมาสู่ที่ก่อสร้างด้วยแรงม้าและช้าง มหาสถูปมีระเบียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลดหลั่นไป มีการตกแต่งด้วยภาพสลักที่ชั้นที่ 2 และ 3 แยกเป็นภาพสลักนูนต่ำ 1460 ภาพและแผ่นภาพแกะ (panel) สำหรับประดับ 1212 แผ่น ส่วนที่ฐานล่างอีก 160 ภาพ และ รูปปั้นพระพุทธรูป 504 องค์ พระพุทธรูปแต่ละองค์นั่งอยู่ภายในสถูปเจาะรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด รอบล้อมสถูปเจดีย์ประธาน
เมื่อมองดูรูปภายนอกของบุโรพุทโธ อาจเห็นการแบ่งออกเป็น 3 ระดับ เรื่องนี้ ดร.สตัทเตอร์ไฮม์ ได้สันนิษฐานว่า การที่แบ่งพุทธวิหารแห่งนี้ออกเป็น 3 ตอนนั้น ช่างใกล้เคียงต่อศรัทธาของชาวพุทธที่แบ่งวิถีชีวิตออกเป็น 3 ชั้น เหลือเกิน คือ
ความหมายเชิงสัญลักษณ์
- ระดับแรก เป็นกลุ่มชั้นฐานที่มีภาพสื่อความหมายถึงการที่มนุษย์ยังเกาะเกี่ยวอยู่กับกิเลส ตัณหา และการเวียนว่ายตายเกิด เรียกว่าชั้น “กามธาตุ” ชั้นนี้มีภาพสลักที่น่าสนใจอยู่ถึง 160 ภาพ เป็นการเล่าเรื่อง “บาป บุญ คุณโทษ และกฎแห่งกรรม”
- ระดับที่สอง คือกลุ่มชั้นของ “รูปธาตุ” แสดงถึงการที่มนุษย์หลุดพ้นจากกิเลส ทางโลกได้บ้าง แต่ก็ยังมีส่วนที่ยึดติดกับทางโลกอยู่ กลุ่มนี้มีอยู่ 5 ชั้น แต่ละชั้นมีทางเดินรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ผนังทั้งสองด้านที่ขนาบทางเดินสลักเป็นเรื่องชาดก พุทธประวัติ และพระโพธืสัตว์มหายาน โดยรอบทุกชั้นมีซุ้มพระพุทธรูปรวมทั้งสิ้น 432 องค์ เป็นปางต่างกัน กล่าวคือ ชั้นที่ 1-3 ด้านตะวันออกเป็นปางภูมิผัสรา ด้านใต้เป็นปางอภัยมุทราและประทานพร ด้านตะวันตกเป็นปางสมาธิ ด้านเหนือเป็นปางแห่งความกล้าหาญ ส่วนชั้นที่ 4 และ5 เป็นปางแสดงเทศนาโดยรอบ
- ระดับที่สาม คือกลุ่มชั้นของ “อรูปธาตุ” มี 3 ชั้น มีทางเดินเป็นวงกลมโดยรอบ แต่ละชั้นมีเจดีย์ครอบองค์พระพุทธรูปและพระโพธิ์สัตว์เรียงรายอยู่ ชั้นที่ 6 มี 32 องค์ /ชั้นที่ 7 มี 24 องค์ / ชั้นที่ 8 มี 16 องค์ แต่ละองค์มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.4-3.8 เมตร และสูง 3.5-3.75 เมตร ลานวงกลมชั้นล่างมีเจดีย์ 32 องค์ ชั้นกลาง 24 องค์ และชั้นบน 16 องค์ สำหรับรูปสลักนูนต่ำที่ขั้นอรูปธาตุนี้แสดงถึงพุทธประวัติ
- ระดับสูงสุด มีพระเจดีย์ขนาดใหญ่กว่าทั้งหมดอยู่ตรงกลาง ทรงระฆังคว่ำ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร สูง 35 เมตร (จากระดับพื้นที่ราบ) เป็นเจดีย์ทึบหนา ไม่มีพระพุทธรูปหรือสิ่งใดบรรจุอยู่ภายใน จากการเดินทางมาของ ศ จำนงค์ ทองประเสริฐ เมื่อปี พ.ศ. 2502 บันทึกว่ายอดหักไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อตอน พ.ศ.2443 ทราบว่ายังมียอดสมบูรณ์อยู่ แล้วถูกฟ้าผ่าในปีนั้นเอง เจดีย์ได้รับความเสียหายอีกครั้งเมื่อถูกระเบิดโดยกลุ่มหัวรุนแรงเมื่อปี พ.ศ.2530 ความหมายของชั้นนี้ เป็นชั้นของการปฏิบัติขั้นสูงหลุดพ้นจากกิเลส ตัณหา ทั้งปวง
ความเชื่อ
เป็นที่สังเกตว่าเจดีย์บนลานวงกลม 2 ชั้นล่าง มีช่องเป็นรูปสี่เหลี่ยม ขนมเปียกปูน ส่วนลานวงกลมชั้นบนสุด เป็นช่องรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ตีความกันว่าเป็นชั้นสูงสุดหลังการหลุดพ้นแล้ว มีตำนานว่า ถ้าเราสามารถเอื้อมมือเข้าไปในเจดีย์บนลานวงกลม ชั้น 2 ที่อยู่ใกล้บันใดทิศตะวันออก โดยผู้หญิงสามารถแตะพระบาท หรือผู้ชายแตะพระหัตถ์ของพระพุทธรูปที่อยู่ภายในได้ จะทำให้ความปรารถนาหรือการอธิษฐานเป็นจริง
ทางขึ้นบุโรพุทโธมีทั้ง 4 ด้าน ดูเหมือนกันทุกด้าน ไม่สามารถบอกได้ว่าด้านใดคือด้านหน้า แต่เมื่อพิจารณารูปแกะลายนูนที่อยู่จากชั้นล่างสุดขึ้นมา เป็นเรื่องราวที่เริ่มจากด้านตะวันออกก่อน จึงควรเดินขึ้นบุโรพุทโธทางด้านตะวันออก จากชั้นล่างขึ้นไปสู่ชั้นสูงสุดให้เดินเวียนทักษิณาวัตร บันใดขึ้นสู่แต่ละชั้นอยู่ต่อกันทุกชั้นไปจนถึงองค์สถูปบนยอด ที่ฐานบันใดแต่ละชั้น มีประตูรูปโค้งที่มีรูปหน้ากาลอยู่บนยอดและแผ่นหินแกะสลักเป็นลวดลายตามขอบ นอกจากนี้มีรูปปั้นสิงโตตั้งคู่อยู่หน้าบันไดราวเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองผู้ที่จะเดินผ่านขึ้นไป ทั้งนี้ ตามความเป็นจริงนั้นไม่มีเคยสิงโตอยู่ในเกาะชวา แต่สิงโตคือสัญลักษณ์ของอาณาจักรแห่งเจ้าชายสิทธัตถะในสมัยพุทธกาล
บูโรพุทโธ ถูกทิ้งร้าง
ข้อสันนิษฐานเรื่องการร้างของบุโรพุทโธมีหลายทาง แต่ที่น่าเชื่อว่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ถูกทิ้งร้างไปในช่วง ค.ศ. 928-1006 จากการที่กษัตริย์ Mpu Sindok ทรงย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรเมดัง หรือ มะตะรัม ไปที่ชวาตะวันออก หลังจากเกิดภูเขาไฟระเบิดขึ้นหลายครั้ง ต่อมาองค์เจดีย์ก็ถูกเถ้าภูเขาไฟถมทับ ป่ารกทึบขึ้นบดบัง จนราว ค.ศ. 1814 Sir Thomas Stampford Raffles ผู้ปกครองชวาชาวอังกฤษ (อังกฤษปกครองระหว่างปี ค.ศ. 1811-1816) มีความสนใจในโบราณวัตถุและศิลปะของชวาอย่างยิ่ง เขาได้เดินทางสำรวจไปทั่วเกาะ และได้ยินว่ามีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อยู่ในป่าทึบ เขาได้ส่งวิศวกรชาวดัทช์ และคนงานอีก 200 คน เข้าถางป่า จึงได้พบเจดีย์บุโรพุทโธ เขาได้รายงานไปยังอังกฤษ ข่าวนี้จึงแพร่ออกไปแต่ก็ยังไม่มีการขุดค้นอย่างจริงจัง เจดีย์ยังจมอยู่ในกองเถ้าภูเขาไฟ
หลังจากนั้นมีผู้ปกครองชาวดัทช์ในเขต Kedu (ดัทช์ค่อยขยายอิทธิพล และขจัดอำนาจของยุโรปชาติอื่นออกไป) ชื่อ Hartmann เขามีความสนใจบุโรพุทโธโดยส่วนตัว จึงทำการขุดต่อไป จนกระทั่งปี ค.ศ. 1835 การขุดก็สำเร็จ เจดีย์ทั้งองค์ปรากฏขึ้น แต่เขาไม่ได้รายงานสิ่งที่พบไปยังทางการดัทช์ การสำรวจของเขาจึงไม่เป็นที่แพร่หลาย ต่อมารัฐบาลฮอลันดาได้ส่งวิศวกรเข้ามาสำรวจอย่างเป็นทางการ ผลสำรวจได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1873
น่าอนิจจา ชิ้นส่วนงานศิลปะของบุโรพุทโธ ถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการ และของที่ระลึก หลายชิ้นถูกส่งไปให้ประเทศต่างๆ และในครั้งที่รัชกาลที่ 5 ของสยาม เสด็จฯเยือนเมื่อปี ค.ศ. 1896 ก็ได้รับอนุญาตให้นำเอาประติมากรรมและภาพสลัก 8 คันเกวียนกลับมาไทยด้วย ประกอบด้วยภาพแกะสลักประดับผนัง 30 ชิ้น พระพุทธรูป 5 องค์ สิงห์ 2 ตัว เศียรสัตว์ประหลาด 1 หัว ทวารบาล 1 ตน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ
บทความเรียบเรียงโดย กฤติยา วโรดม
แนะนำการเที่ยวบุโรพุทโธ
บุโรพุทโธ ตั้งอยู่ที่เมืองยอกยาการ์ต้า ในชวากลาง สภาพอากาศบนเกาะชวามี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อน (พ.ค.-ต.ค.) และช่วงที่เหลือเป็นฤดูฝน ส่วนช่วงที่มรสุมชุกคือ ม.ค.-เม.ย. อีกช่วงหนึ่งที่ไม่เหมาะเดินทางท่องเที่ยว คือ ฤดูถือศีลอดของชาวมุสลิม ช่วงนั้นโรงแรมจะหายากและแพงกว่าปรกติด้วยค่ะ
ช่วงเวลาที่ควรเข้าชมบุโรพุทโธ ควรเป็นช่วงเช้าหรือเย็น ที่อากาศไม่ร้อนจนเกินไป ใช้เวลาราว 2-3 ชั่วโมง ชมบุโรพุทโธเสร็จ ก็ควรต่อด้วยวัดเมนดุท ซึ่งเป็นพุทธสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เน้นความพิเศษกว่าใคร ต้องไปชมพระอาทิตย์ขึ้นที่บุโรพุทโธ เป็นไฮไลท์เลยทีเดียว แต่ราคาค่าเข้าชมก็สูงกว่าช่วงปรกติมากด้วยเช่นกัน
อ้อ!! ทุกคนต้องนุ่งโสร่งแบบชวาเวลาเข้าชมด้วยนะคะ เขาจะแจกให้ตอนซื้อตั๋ว มีสีและแบบแตกต่างกันระหว่างหญิงและชาย ดังนั้นเตรียมกางเกงหรือชุดด้านในให้เข้ากับโสร่งด้วยจะดีต่อการถ่ายรูปให้ได้ภาพงามๆ ค่ะ
คลิ๊กชม ตัวอย่างรายการทัวร์อินโดนีเซีย
หน่อโพธิ์ แทรเวล ให้บริการจัดทัวร์ท่องเที่ยวอินโดนีเซีย ยอกยาการ์ต้า บาหลี แบบเจาะลึก
บทความเกี่ยวข้อง
- ชวา
- ปรับบานัน
- หน้ารวมบทความ